การลอยเรือเป็นประเพณีของชาวเล (ชาวน้ำ) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะอาดังและเกาะหลีเป๊ะ ในเขตอำเภอเมืองฯ ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของมลายู ชาวเลได้อยู่อาศัยบริเวณหมู่เกาะแถบนี้เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ชาวเลมีนิสัยชอบอยู่เป็นอิสระไม่ชอบคบค้าสมาคมกับชนกลุ่มอื่น ชอบรวมอยู่เป็นพวกเดียวกัน มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปหากินไม่อยู่เป็นหลักแหล่งมีแบบแผนประเพณีและภาษาของตนเอง เดิมเป็นชนที่ไม่มีศาสนา เชื่อในเรื่องผีสางวิญญาณ
ประเพณีลอยเรือของชาวเลในจังหวัดสตูล ทำที่หมู่เกาะหลีเป๊ะได้ทำกันมานานแล้วจุดมุ่งหมายในการทำพิธีลอยเรือก็คือ เพื่อการลอยบาปและเป็นการเสี่ยงทายในการประกอบอาชีพ การลอยเรือจะทำปีละสองครั้ง โดยทำในเดือน 6 และในเดือน 12
ในวันขึ้น 13 ค่ำ ของเดือน 6 และเดือน 12 ชาวเลจะหยุดงานทุกชนิด เพื่อเตรียมขนมและข้าวตอกดอกไม้ไหว้ทวด และเตรียมปัดกวาดบริเวณหลาทวด เมื่อเสร็จประมาณบ่ายสามโมงชาวเลทั้งหมดจะไปพร้อมกัน ณ บริเวณพิธีโดยไปยืนล้อมรอบหลาทวด มีพิธีกรประจำหมู่บ้านที่เรียกว่าโต๊ะหมอเป็นผู้ประกอบพิธี